วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คอแดงหรืออักเสบ มีอะไรซ่อนอยู่



บ่อยครั้งที่แพทย์ตรวจแล้วบอกผู้ป่วย โดยเฉพาะกับคุณพ่อคุณแม่ว่าลูกคอแดง นั้น 
มีความสำคัญอย่างไร ? 

ถ้า พูดแบบตรงไปตรงมาเลย คือแพทย์ต้องการสื่อว่าเกิดพยาธิสภาพหรือการอักเสบขึ้นกับเยื่อบุของอวัยวะ ต่าง ๆในช่องคอ โดยมีการอักเสบหรือการติดเชื้อเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจาก เชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรืออื่น ๆ และเป็นเหตุเป็นผลพอที่จะให้ยาหรือยาปฏิชีวนะกับเราหรือบุตรหลานเราได้อย่าง มั่นใจ ดังนั้นเวลาที่แพทย์บอกว่า “คอแดง” นั้นแพทย์มักจะหมายถึงมีการอักเสบแดงของผนังคอด้านหลัง หรือ คอหอย (ซึ่งมักมีเสียงแหบ เจ็บคอร่วมด้วยมากกว่า) หรือ ต่อมทอนซิลที่อักเสบ 
โดยบางครั้งการแดงอาจมีตั้งแต่น้อยไปจนถึงมาก เลยไปถึงการอักเสบเป็นจุดหนองนั้น ซึ่งสาเหตุ
แตกต่างกันไป โดยไม่ได้หมายความว่าจะเกิดจากการติดเชื้อเสมอไป ลักษณะคอแดง 
สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1.คอแดงแบบไม่มีพยาธิสภาพหรือการติดเชื้อ

   ในที่นี้หมายถึง เยื่อบุในผนังคอที่แดงจากภาวะไข้ทั่วไปโดยที่ไม่ได้จำเป็นต้องมีคออักเสบ เช่น เวลาไข้สูง  ซึ่งผู้ปกครองก็คงคิดเหมือนกันว่ามันก็แดงไปหมดทั้งตัวแหละ ซึ่งเป็นความจริง ในบางครั้งระยะเริ่มแรกการติดเชื้อเราอาจแยกได้ไม่ชัดเจน และโดยส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กมักเป็นการติดเชื้อไวรัสเสียส่วนใหญ่ทำ ให้บางทีอาจแยกออกได้ยาก หรือบางครั้งกินอาหารที่มีสี ๆ ก็อาจทำให้แดงได้เหมือนกัน แต่แพทย์มักดูออก ซึ่งกลุ่มนี้มักไม่จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ

2.คอแดงแบบมีพยาธิสภาพหรือมีการติดเชื้อร่วมด้วย

ข้อนี้แพทย์จะบอกว่าคอลูกแดงชัดเจน มีขอบเขตแยกส่วนที่อักเสบและไม่อักเสบเห็นได้ชัด (demarcation) ซึ่งโดยส่วนใหญ่สาเหตุการแดงอักเสบแบบนี้มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเป็นส่วน ใหญ่ ซึ่งแพทย์มักบอกหรือให้ข้อมูลว่าเป็นการติดเชื้อแทรกหรือร่วม (superimposed infection) เพราะจริง ๆ แล้วในเด็กสาเหตุเริ่มแรกมักเป็นไวรัสเกือบถึงร้อยละ 80 นอกจากนี้แพทย์มักจะพิจารณาจากอาการร่วม เช่น เป็นมาหลายวันแล้ว อย่างน้อย 3-5 วัน, มีไข้สูง, ดูอาการแย่ (toxic symptom), อาจเจ็บคอมาก, มีกลิ่นปาก, เสมหะเหนียวเขียว ซึ่งแพทย์มักสั่งยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมมาให้รับประทาน เพราะสมเหตุ
สมผล

3.คอแดงร่วมกับมีจุดร้อนในหรือมีหนอง อาจลุกลามไปที่ทอนซิลสองข้างด้วย

อันนี้ค่อนข้างแน่ใจได้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่เป็นจากแบคทีเรียถึงราว 70-80% ส่วนที่เหลือเล็กน้อยนั้น สาเหตุอาจเกิดจากเชื้อไวรัสบางกลุ่มได้ ที่ทำให้เกิดมีฝ้าขาวคลุมที่ทอนซิลหรือมีจุดร้อนในกระจายทั่วในปากหรือใน กระพุ้งแก้ม คือเชื้อไวรัสกลุ่ม EB virus หรือ Coxackies virus ครับ ซึ่งถ้าตรวจพบคอแดงและมีจุดหนอง (คล้าย ๆ ร้อนใน) กลุ่มนี้อาการเจ็บคอจะค่อนข้างมากครับ กินอะไรไม่ค่อยได้ มีกลิ่นปาก เด็กเล็กอาจสังเกตว่ามีน้ำลายไหลมากกว่าปกติ ไม่ค่อยดูดนม ไข้มักขึ้นสูงขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นช่วง ๆ เรียกว่าหมดฤทธิ์ยาลดไข้ก็มากันทีเดียวจนผู้ปกครองส่วนใหญ่กังวล ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เพราะเชื้อแบคทีเรียบางส่วนอาจเล็ดลอดเข้าสู่กระแสเลือด แล้วร่างกายพยายามสร้างกลไกป้องกันตามธรรมชาติขึ้นกับสารที่เชื้อสร้างขึ้น (pyrogen) ดังนั้นเมื่อไข้สูงเชื้อก็ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้เนื่องจากอุณหภูมิกายที่ สูง ไม่เหมาะสำหรับเชื้อในการเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรีย และเป็นการเตือนตัวผู้ป่วยไปด้วยในตัวว่าเกิดความเจ็บป่วยขึ้นสมควรต้องพัก และรับการรักษา การรักษาโดยการให้ยาลดไข้ในกลุ่มนี้เป็นเพียงการประคับประคองเท่านั้น เพราะผู้ปกครองหรือผู้ป่วยเองจะมาบอกว่ากินยาแล้วทำไมไข้ไม่ลดลง ถ้าเห็นอาการแบบนี้แล้ว ส่วนใหญ่ร้อยทั้งร้อย มักจะมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมักเป็นกลุ่มเชื้อสเต็ปโตคอคคัส (streptococcus) สายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งก็สามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ กลุ่มเพนนิซิลินหรืออนุพันธ์ หรือยากลุ่มอื่น ๆ ได้ โดยควรจะ  กินยาให้ครบอย่างน้อย 7-10 วัน

 ทีนี้คงทราบกันคร่าว ๆ แล้วว่า การที่แพทย์ชอบบอกว่าคอแดง ๆ นั้นเป็นอย่างไร? แต่บางครั้งก็อย่าโกรธกันว่าแพทย์บางท่านให้ยาปฏิชีวนะ บางท่านอาจไม่ให้ยาเพียงแค่รักษาตามอาการ เพราะขึ้นกับสถานการณ์ต่าง ๆ และอาการทางคลินิก ที่ตรวจพบร่วมในขณะนั้น ระยะเวลาที่เป็นว่าเพิ่งเริ่มหรือเป็นมาหลายวันแล้ว โดยแพทย์มักจะฟันธงว่าให้หรือไม่ให้ยาปฏิชีวนะไปเลย เพราะถ้าถามผู้ป่วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็คงตอบว่าแล้วแต่หมอ...

แต่ถ้ากรณีที่แพทย์แนะนำให้กินยาปฏิชีวนะแล้วผู้ปกครองไม่อยากให้ลูกกิน ตรงจุดนี้ก็คงต้องแบกรับความเสี่ยงตรงนี้ไป พูดไปก็มีข้อดี-ข้อเสีย เพราะเมื่อสมัยก่อนสมัยที่ยังไม่ได้ใช้ยาปฏิชีวนะมากเช่นทุกวันนี้ อุบัติการณ์ของ โรคหัวใจรูมาติคเกิดขึ้นมากเสียจนหมอโรคหัวใจเด็กทำงานกันแทบไม่ทัน 
พอถึงยุคนี้มีการให้ยาปฏิชีวนะกันมากขึ้น อุบัติการณ์ของโรคนี้ลดลงไปมากจนแทบจะหาไม่ค่อยเจอ 
ข้อเสียของการ ให้ยาเร็วไปโดยที่หลักฐานไม่ชัดก็มี เช่น ข้อแรกคือความเสี่ยงต่อการแพ้ยา ซึ่งปัจจุบัน
ดีขึ้น เพราะมียาหลายกลุ่มที่เสี่ยงต่อการแพ้น้อยลงให้เลือกใช้ แม้จะไปคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด ข้อสองคือเสียเงิน (เพราะยาปฏิชีวนะมักแพง) นอกนั้นก็ไม่ค่อยมีอะไรต้องกังวล เพราะถ้าแพทย์ให้ตามเหตุผลจำเป็นจริง ๆ โดยต้องกินตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดก็จะไม่เกิดการดื้อยาของเชื้อโรค (ยกเว้นว่าผู้ป่วยกินไม่ครบ) ตัวยาส่วนใหญ่มักไม่สะสมมักจะถูกเมตาโบไลต์ที่ตับและไปกำจัดทิ้ง ทางอุจจาระ ปัสสาวะหมด โดยสังเกตง่าย ๆ ว่าทำไมต้องกินทุก 8 หรือ 12 ชม. เพราะฤทธิ์ยามันลดลงจากการที่ร่างกายขับออกไป
เมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว ก็จะเป็นการคลายความสงสัยในสิ่งที่แพทย์มักพูดบ่อย ๆ กับพ่อแม่ที่มีลูกเป็นคอแดงหรือคออักเสบ ซึ่งข้อมูลสำคัญที่นำเสนอนี้จะเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างแพทย์กับ ผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ซึ่งแน่นอนเลยว่าจะเป็นประโยชน์ต่อบุตรหลานของท่านเป็นอย่างมาก.

อาจารย์นายแพทย์ ศักดา อาจองค์
กุมารเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น