วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประโยชน์ของใบชา

           ชา มีกำเนิดมาจากแผ่นดินจีน นานกว่า 4,000 ปีแล้ว คนจีนนิยมดื่มชาเพื่อบำรุงกำลัง โดยระยะแรกใช้การเก็บชามาจากในป่า เมื่อชาได้รับความนิยมมากขึ้น ชาวบ้านจึงหันมาปลูกชา เพื่อให้เพียงพอกับ อัตราการบริโภคที่เพิ่มขึ้น  
           วิวัฒนาการของชา มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จากเริ่มต้นที่ใช้ใบสดต้มกับน้ำ ก็เริ่มมีการนำชามาอบแห้ง เติมกลิ่น ผสมเครื่องเทศ ให้รสชาติกลมกล่อมยิ่งขึ้น จนระยะหลัง มีการค้นพบการหมักชา ซึ่งจะทำให้เกิดกระบวนการทางเคมีธรรมชาติ ที่จะทำให้ได้กลิ่นพิเศษของชาออกมา ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญอยู่เสมอ

          ในใบ ชามีสารที่สำคัญ คือ Eplgallocatechin gallate ( EGCG ) ทำหน้าที่เป็นสารแอนตี้ออกซิเดนท์ มีฤทธิ์ในการยับยั้งการก่อมะเร็งได้สูงกว่าวิตามินซีถึง 2 เท่า และสามารถยับยั้งการสร้างสารไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งรุนแรง รวมทั้งสามารถยับยั้งสาร MNNG ที่ทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร และลำไส้
           นอกจากนี้สาร EGCG ในใบชา สามารถลดปริมาณไขมันในเส้นเลือด ลดโคเลสเตอรอล ช่วยทำให้ไขมันแตกตัวและละลาย ยิ่งไปกว่านั้น สาร Theobromin ในใบชา จะช่วยเพิ่มการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ สามารถลดปริมาณไขมันที่ไปเกาะตามผนังของหลอดโลหิต ทำให้เส้นโลหิตฝอยมีความยืดหยุ่น ลดความเหนียว และชะลอการจับตัวของโลหิต ทำให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น

            ถึงแม้ว่าใบชาจะมีคาเฟอีน แต่ก็มีในปริมาณที่เล็กน้อย ซึ่งพอเหมาะกับการช่วยกระตุ้นร่างกายให้สดชื่น ขับปัสสาวะ ป้องกันโรคหอบหืด ดับกลิ่นปาก ป้องกันฟันผุ และช่วยทำให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่นดีขึ้น ช่วยชะลอความชรา

 
 

วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ความต้องการธาตุเหล็กในสตรีที่มีประจำเดือน

            ท่านสุภาพสตรีหลายๆท่าน อาจเกิดความสงสัยถึงผลของการออกกำลังกายในขณะที่มีประจำเดือน หรือผลจากการสูญเสียเลือดในขณะมีประจำเดือน ก่อให้เกิดผลในทางลบต่อการออกกำลังกายหรือไม่ รวมไปถึงสตรีหลายๆคน ที่หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในขณะที่มีประจำเดือน โดยเข้าใจว่า การออกกำลังกายอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีในขณะที่ร่างกายมีประจำเดือน

             สิ่งหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบของเลือดก็คือ ธาตุเหล็ก โดยที่ธาตุเหล็กนี้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของฮีโมโกลบิ้นในเลือด การสูญเสียเลือดจึงเท่ากับเป็นการเสียฮีโมโกลบิ้น ออกจากร่างกาย ทุกๆเดือนหลังจากสตรีเริ่มมีประจำเดือน สตรีต้องเสียเลือด ทำให้เกิดความกังวล ว่าสตรีควรต้องมีการทดแทนธาตุเหล็กหรือไม่ ซึ่งจากการวิจัย ของ Briggs และ Collaway พบว่า ในเดือนหนึ่งๆ สตรีจะเสียธาตุเหล็ก เพราะการมีประจำเดือนระหว่าง 15-30 มิลลิกรัม หรือ 0.5-1.0 มิลลิกรัม ต่อวัน ดังนั้นเมื่อเทียบกับผู้ชายแล้ว สตรีจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับธาตุเหล็กทดแทน เนื่องจากการสูญเสียธาตุเหล็กจากประจำเดือนดังกล่าว ซึ่งสตรีมีความจำเป็นในการเสริมธาตุเหล็กมากกว่าเพศชาย แต่หากพิจารณาปริมาณของการฝึกออกกำลังกายร่วมด้วย นักกีฬาทั้งหญิง และชายอาจมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับธาตุเหล็กมากกว่า คนที่ไม่ได้เป็นนักกีฬา เนื่องจากการออกกำลังกาย จะทำให้ม้ามทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ อันอาจก่อให้เกิดภาวะการมีเม็ดโลหิตแดงน้อยเกินไป จากการฝึกหรือเล่นกีฬาอย่างหนัก

              โดยเฉพาะในระยะแรกของการออกกำลังกายนอกจากจะเป็นการเสียธาตุเหล็กแล้ว ยังทำให้ร่างกายเสียโปรตีนด้วย ด้วยเหตุนี้ นักกีฬาทั้งหญิง และชาย ที่ต้องฝึกหนักควรแน่ใจว่าร่างกายได้รับธาตุเหล็กหรือโปรตีนอย่างเพียงพอ ซึ่งจากการวิจัยพบว่า นักกีฬาควรได้รับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ประมาณ 2 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ใน 1 วัน และควรได้รับธาตุเหล็ก ประมาณวันละ 28 มิลลิกรัม( ประทุม ม่วงมี , 2527 )


วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เครื่องดื่มบำรุงกำลัง

          เครื่องดื่มบำรุงกำลังในบ้านเรามีด้วยกันหลายชนิด เครื่องดื่มดังกล่าว ส่วนใหญ่บรรจุใส่ขวดขนาด 100 ม.ล. ประกอบไปด้วยสารเคมีหลายชนิด เช่น ไวตามินบีรวม ( Pentothenic acid , Inositol , Niacin , Pyridoxin , Cyanocobalamin ) คาเฟอีน ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับที่พบในชา กาแฟ ซึ่งเฉลี่ยแล้วใน ชา หรือกาแฟ 1 ถ้วย จะมีคาเฟอีน ประมาณ 100 มิลลิกรัม แต่ในเครื่องดื่มบำรุงกำลังจะมีคาเฟอีนอยู่ประมาณ 50 มิลลิกรัม ฤทธิ์ของคาเฟอีน เป็นสารที่กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง หัวใจ ระบบการหายใจ ตลอดจนการทำงานของไต
           กรดซิตริก ก็เป็นสารอีกชนิดหนึ่งที่มีอยู่สูงในเครื่องดื่มดังกล่าว ( กรดชนิดนี้จะมีอยู่ในน้ำผลไม้ต่างๆ โดยเฉพาะมะนาว และส้มโอ ) ทำให้รสดีขึ้น นอกจากนี้ยังมี Bile acid ( Tourine และ glucuronolactone ) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการย่อยและดูดซึมอาหารประเภทไขมันในลำไส้ และสารที่มีมากที่สุดคือ น้ำผึ้ง เป็นที่น่าสังเกตว่าเครื่องดื่มเหล่านี้ มีส่วนประกอบของสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง แต่อาจไม่จำเป็นนัก ในกรณีที่ออกกำลังกายไม่ต่อเนื่องยาวนานมากนัก ( ไม่เกิน 2 – 3 ชั่วโมง ) เนื่องจากอาหารและน้ำที่เรารับประทานเข้าไปสามารถชดเชยพลังงานที่สูญเสียไปได้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย แต่อาจมีความจำเป็น ในกรณีที่ออกกำลังกายเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 3 ชั่วโมง เนื่องจากร่างกายจะสูญเสียพลังงานค่อนข้างมาก ประกอบกับสูญเสียแร่ธาตุที่จำเป็นต่อปฏิกริยาทางเคมีในร่างกาย ( metabolism ) ซึ่งอาจทำให้อัตราการฟื้นตัว ( recovery ) ของร่างกายช้าลงได้ การรับประทานเครื่องดื่มดังกล่าว จึงอาจเพิ่มอัตราการฟื้นตัวของร่างกายให้เร็วขึ้น แต่ยังไม่มีนักวิจัยรายใดที่จะสนับสนุนข้อมูลดังกล่าว

 
 

วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การทรงตัว

              การทรงตัวนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการทดสอบสมรรถภาพทางกาย ประกอบไปด้วยการรักษาสมดุล (Balance) และการควบคุมท่าทาง (Postural control) การฝึกการทรงตัวทำได้โดยการฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้ในการพยุงตัวให้มีความแข็งแรง ทำงานได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

              การฝึกยืนทรงตัวบนไม้กระดานที่พลิกไปมาได้จะช่วยให้ร่างกายมีการปรับตัวเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ป้องกันและตอบสนองได้ดีเมื่อเกิดการสูญเสียการทรงตัว ซึ่งการฝึกดังกล่าวทำให้ร่างกายเกิดกลไกของการ Feedback และ Feed forward ตอบสนองต่อการล้มได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาการบาดเจ็บที่ข้อเท้า การฝึกบนกระดานฝึกการทรงตัวจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของระบบประสาทภายในข้อต่อ อันเป็นผลให้การทรงตัวของร่างกายดีขึ้น ทำให้เกิดการพลิกของข้อเท้าซ้ำลดลง และทำให้ความแข็งแรงและความมั่นคงของข้อเท้าเพิ่มมากขึ้นในการประเมินระดับความสามารถของการทรงตัวนั้น สามารถวัดได้โดยใช้เครื่องมือช่วยในการวัด หรือใช้แบบสอบถามในการวัดการทรงตัว ซึ่งตัวแปรที่ใช้วัดระดับ การทรงตัวมีหลากหลายตัวแปร ทั้งเวลาที่สามารถทรงตัวได้ ความเร็วในการแกว่งตัวขณะวัด ฯลฯ

            สำหรับวิธีฝึกทรงตัวบนกระดานฝึกการทรงตัวนั้นสามารถทำได้โดยการฝึกทรงตัว 30 วินาทีต่อเนื่องกัน ใช้เวลารวมในการฝึกประมาณ 15 นาที ฝึก 30 วินาที พัก 1 นาทีโดยไม่ใช้แขนหรือลำตัวส่วนบนช่วยในการทรงตัว ค่อยๆเพิ่มระดับความยาก โดยการใช้ขาข้างเดียว และหลับตาในขณะฝึก (งานกายภาพบำบัดฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย , 2543) การฝึกการทรงตัว มิได้เหมาะสำหรับในผู้ที่เกิดการบาดเจ็บเท่านั้น แต่ในบุคคลทั่วไปการฝึกการทรงตัวจะช่วยให้โอกาสเกิดการบาดเจ็บลดน้อยลง ทั้งในขณะที่ดำรงชีวิตประจำวัน และในขณะออกกำลังกายได้อย่างดี


วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อันตรายจากการสูบบุหรี่

           บุหรี่หลายๆ ท่านทราบดีว่าเกิดโทษต่อร่างกายปัญหาที่ว่าทำไมคนเราจึงเริ่มสูบ และติดบุหรี่ หรือติดแล้วทำไมจึงเลิกไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาทางจิตวิทยา และสังคมวิทยา ที่ส่งผลต่อสรีรวิทยาของมนุษย์ นักกีฬา และคนทั่วไปเป็นจำนวนมากที่นิยมสูบบุหรี่ เพื่อระงับความตื่นเต้น และสนองความอยากของจิตใจ โดยคิดไปว่าบุหรี่ช่วยทำให้จิตใจสบายขึ้น


           บุหรี่มีนิโคติน ( nicotin ) ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็ว ทำให้หลอดโลหิตบีบตัว เป็นผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีน้ำมันดิน ( tar ) ที่จะเคลือบผนังเล็กๆของถุงลมปอด ( alveoli ) ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการแลกเปลี่ยนแก๊สที่ผนังถุงลมปอด และประการสุดท้ายยังมีคาร์บอนโมน๊อกไซด์เป็นส่วนผสม ซึ่งแก๊สนี้สามารถจับกับฮีโมลโกบิ้นได้ดีกว่าออกซิเจนถึงประมาณ 200 เท่า จึงเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งออกซิเจนโดยเลือด ทำให้การเคลื่อนไหวขาดความราบรื่น
            Rode และ Shephard พบว่า ในการออกกำลังกายที่รุนแรง ปริมาณออกซิเจนที่ใช้สำหรับงานในการหายใจในผู้สูบบุหรี่จะมากกว่าในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 2 เท่า ด้วยเหตุนี้ทำให้เหลือออกซิเจนไปให้กล้ามเนื้อที่ต้องใช้ออกกำลังกายลดลง ซึ่งเท่ากับลดประสิทธิภาพการทำงาน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเมื่อยล้าเร็วขึ้น ซึ่งจากการวิจัยของ Krumholz พบว่า หากผู้ที่สูบบุหรี่งดสูบเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจ และการเป็นหนี้ออกซิเจนลดลงกว่าการทดสอบครั้งก่อน

             ประโยชน์ของการสูบบุหรี่นั้นหามีไม่ โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่ใช้ความอดทนสูงด้วยแล้ว บุหรี่จะขัดขวางการสร้างพลังงาน และที่สำคัญวงการแพทย์ยังระบุชัดว่าการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์ในทางตรงกับการเกิดโรคหลายชนิด เช่น มะเร็งของหลอดลม และปอด ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ฯลฯ ดังนั้นในวงการกีฬา และการออกกำลังกาย จึงไม่ควรมีที่ว่างสำหรับ บุหรี่ ( ประทุม ม่วงมี,2527 )