วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

ไขมันในร่างกาย

ในร่างกายของมนุษย์ประกอบด้วยสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ( Body constituent ) เช่น จำนวนของกระดูก จำนวนอวัยวะต่างๆและสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ( Body composition ) เช่น ขนาดของกล้ามเนื้อ และปริมาณไขมันที่เก็บสะสมไว้ใต้ผิวหนัง




นอกจากนี้ส่วนประกอบของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงได้ยังแบ่งออกเป็น ส่วนที่ไม่มีบทบาทสำคัญในการสร้างพลังงาน เช่น แร่ธาตุที่สะสมในกระดูก และไขมันที่สะสมไว้ใต้ผิวหนัง และส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างพลังงาน เช่น กล้ามเนื้อ ปริมาณไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังมักเป็นตัวชี้ที่สำคัญที่จะทำให้น้ำหนักของคนเราเปลี่ยนแปลงไป ความอ้วนจึงเกิดจากความไม่สมดุลกัน ระหว่างพลังงานที่ร่างกายได้รับจากสารอาหาร และพลังงานที่ร่างกายใช้สำหรับกิจกรรมต่างๆของชีวิต



ความอ้วน ( Obesity ) ถูกแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ Hyperplastic คือ ความอ้วนที่เกิดจากการมีเซลล์ไขมันมาก ซึ่งมักเป็นความอ้วนในระยะต้นของชีวิต ในขณะที่ Hypertrophic เป็นความอ้วนชนิดที่มีการขยายขนาดของเซลล์ไขมันที่มีอยู่เดิม จึงมักเป็นความอ้วนในระยะหลังๆของชีวิต



จากการวิจัยพบว่า มนุษย์เราจะมีไขมันที่มากขึ้นใน 2 ระยะของชีวิตคือ ในข่วงอายุ 1 ปี และระหว่างอายุ 9 – 13 ปี อาหารในช่วงอายุดังกล่าวจึงมีบทบาทมากในการกำหนดทั้งขนาด และปริมาณของเซลล์ไขมัน ดังนั้นการลดน้ำหนักในผู้ใหญ่ที่อ้วนจะเป็นการลดขนาดของเซลล์ไขมันลง โดยที่จำนวนของเซลล์ยังอยู่เท่าเดิม และสามารถจะเพิ่มขนาดได้อีกเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดความไม่สมดุลของพลังงาน



นอกจากนี้จากงานวิจัยต่างๆยังพบว่าผู้ที่ฝึกออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะมีไขมันน้อยกว่าในอายุรุ่นราวคราวเดียวกันที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย และพบว่า ปริมาณไขมันในร่างกายจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่เพิ่มขึ้นหากมีการฝึกออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ