วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความเร็วในการฝึกเวท

              ความเร็วในการฝึกนับเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญกับการพัฒนาสมรรถภาพแบบแอนแอ โรบิค เบลล์ (Bell, Peterson, Arthur – Quinsney, & Wenger, 1989) ได้ทำการศึกษาถึงผลของความเร็วในการฝึกความแข็งแรง ที่มีต่อค่า พลังแบบแอนแอโรบิค โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชาย จำนวนทั้งสิ้น 18 คน ฝึกความเร็วต่ำ กับความเร็วสูง ทำการฝึก 4 วัน / สัปดาห์ เป็นเวลา 5 สัปดาห์ พบว่า การฝึกทั้งแบบความเร็วต่ำ และความเร็วสูง ไม่มีอิทธิพลต่อการเพิ่ม พลังแบบแอนแอโรบิค และพบว่าความแข็งแรงแบบไอโซไคเนติค (Isokinetic) มีความสัมพันธ์กันอย่างสูงกับค่าพลังแบบแอนแอโรบิค

             นอกจากนี้จากการศึกษาของ ปิยพงษ์ รองหานาม (2531) ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลของการฝึกกล้ามเนื้อแบบ ไอโซโทนิค ด้วยความเร็วต่างอัตรา ที่มีต่อความสามารถในการยืนกระโดดในแนวดิ่ง กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาชาย จากวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 30 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มทดลอง มีค่าเฉลี่ยของอายุ น้ำหนัก ส่วนสูง และความสามารถในการยืนกระโดดในแนวดิ่งก่อนการฝึกใกล้เคียงกัน กลุ่มทดลองที่ 1 ฝึกยกน้ำหนักที่ 70 % 1 RM ด้วยความเร็ว 8 ครั้งใน 10 วินาที กลุ่มทดลองที่ 2 ฝึกยกน้ำหนักที่ 70 % 1 RM ด้วยความเร็ว 8 ครั้งใน 15 วินาที ฝึก 3 วัน/สัปดาห์ ใช้เวลาในการฝึกทั้งสิ้น 10 สัปดาห์

            ผลการวิจัยพบว่า ความสามารถในการยืนกระโดดในแนวดิ่งของกลุ่มทดลองทั้ง 2 กลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นอกจากนี้ยังพบว่า ความสามารถในการยืนกระโดดในแนวดิ่งของกลุ่มทดลองที่ 1 สูงกว่ากลุ่มทดลองที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

             จะเห็นได้ว่าผลของการวิจัยยังค่อนข้างจะขัดแย้งกันอยู่ ทำให้ไม่สามารถสรุปได้ว่า การฝึกกล้ามเนื้อที่ความเร็วสูง หรือความเร็วต่ำ อย่างใดที่มีผลต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานแบบแอนแอโรบิคได้ดีกว่ากัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น