วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สารต่างๆที่มีผลต่อการฝึกเวท

สารต่างๆ  ที่ร่างกายดูดซึมเข้าไป บางชนิดมีผลต่อ  พลัง  และสมรรถภาพแบบแอนแอโรบิค  ดังเช่นงานวิจัยของ  ฮอฟแมนส์ (Hoffman, Stavsky  &  Falk, 1995)  ได้ทำการศึกษาถึงผลของการจำกัดน้ำ  ที่มีต่อค่า พลังแบบแอนแอโรบิค   และความสูงของการกระโดดในแนวดิ่งในนักกีฬาบาสเกตบอล  กลุ่มตัวอย่างเป็นนักบาสเกตบอลเพศชาย  จำนวน   10  คน  เล่น  2  ต่อ  2  แบบเต็มสนาม  แบ่งเป็นกลุ่มที่ให้ทานน้ำตลอดเกม  กับกลุ่มที่ไม่ให้ทานน้ำ  พบว่า  ค่า  พลังแบบแอนแอโรบิค   จะแตกต่างกันประมาณ  19  %  นั่นแสดงให้เห็นว่า หากร่างกายขาดน้ำประสิทธิภาพในการสร้างพลังงานแบบ แอนแอโรบิค อาจลดลง           
             นอกจากนี้    บอลล์ (Ball, 1995)  ได้ทำการศึกษาถึงผลของเครื่องดื่มที่มีคาร์โบไฮเดรต  และอิเล็คโตรไลต์  ในขณะฝึกโดยความหนักสูง  ต่อความสามารถในการเพิ่มความเร็วก่อนเข้าเส้นชัย   โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นนักจักรยานเพศชาย  จำนวน  8  คน  ใช้การทดสอบของวินเกต  พบว่า เครื่องดื่มที่มีคาร์โบไฮเดรต  และอิเล็คโตรไลต์  ทำให้  พลังสูงสุด  และ พลังเฉลี่ย (mean  power)  เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .05 แสดงให้เห็นว่า  ปริมาณการสูญเสียน้ำ  และการเพิ่มคาร์โบไฮเดรต  และอิเล็คโตรไลต์  ในเครื่องดื่ม มีผลกับการเปลี่ยนแปลงค่าของ พลัง  และสมรรถภาพแบบแอนแอโรบิค  
            ยิ่งไปกว่านั้นจากการศึกษาของ สวีเนอร์ (Sweenor , 1998) ได้ทำการศึกษาถึงผลของคาเฟอีน  ต่อความสามารถในการวิ่งระยะสั้น โดยใช้การทดสอบของ    วินเกต ในการเก็บข้อมูล   พบว่า   ปริมาณคาเฟอีน  7   มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว   1  กิโลกรัม (เป็นแคปซูล)  มีผลทำให้พลังแบบแอนแอโรบิค  เพิ่มขึ้น   เล็กน้อยทั้งในเพศชายและเพศหญิง  โดยที่มีผลทำให้พลังแบบแอนแอโรบิค ในเพศชายเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเพศหญิง  และจากการศึกษาของ อินบาร์ (Inbar, Rostein, Jacobs, Kasier, Plin, &  Dotan, 1983) ได้ทำการศึกษาถึงผลของการใช้สารด่างต่อการออกกำลังกายในระยะสั้น กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตพลศึกษาจำนวน  13  คน เพศชาย สารด่างที่ให้คือโซเดียมไบคาร์บอเนต  ใช้การทดสอบตามวิธีของวินเกต พบว่า   โซเดียมไบคาร์บอเนต  มีผลทำให้พลังเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  รวมไปถึงอาจมีผลกับการเพิ่ม  สมรรถภาพแบบแอนแอโรบิค 
            นั่นแสดงให้เห็นว่า  การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาร์โบไฮเดรต และอิเล็คโตรไลท์   สารที่มีคาเฟอีน  และโซเดียมไบคาร์บอเนตผสมอยู่ มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างพลังงานแบบแอนแอโรบิค            
            นอกจากนี้    สเตร์ตั้น (Strayton, 1997)ได้ทำการวิจัยถึงผลของครีเอทีน ที่มีต่อค่าสมรรถภาพแบบแอนแอโรบิค  ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ  และองค์ประกอบของร่างกาย  โดยกลุ่มทดลองเพศชาย จำนวน   18  คน  ให้ครีเอตาโบลีน (creatabolin)   7.5  กรัม/วัน  พบว่า  ครีเอทีน    มีผลในการเพิ่มน้ำหนักตัว  แต่ไม่มีผลในเรื่องของความแข็งแรง   และสมรรถภาพแบบแอนแอโรบิค  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .05 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น