วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

วิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อการเล่นกอล์ฟที่ดีขึ้น…

วิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อการเล่นกอล์ฟที่ดีขึ้น…


กอล์ฟเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่มีประวัติยาวนาน และมีจำนวนผู้ที่เล่นกอล์ฟมากขึ้นทุกปี ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น เป็นกีฬาที่มีความท้าทาย เป็นกีฬาที่ได้เล่นอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ เพื่อสุขภาพ เพื่อธุรกิจ และเพื่อสังคม เป็นต้น
เมื่อจำนวนผู้เล่นกอล์ฟเพิ่มขึ้น ก็มีผู้เล่นส่วนหนึ่งมีความรู้สึกจริงจังและเข้าร่วมแข่งขันตามรายการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง หรือบางคนที่ประสบความสำเร็จมากๆ ก็เข้าสู่การเป็นนักกอล์ฟอาชีพ ดังนั้นจึงเกิดกระบวนการระหว่างที่จะเข้าสู่การแข่งขันคือ มีการฝึกซ้อมมากขึ้น และโดยส่วนใหญ่ก็ให้ความสำคัญกับการฝึกทักษะของการสวิงกอล์ฟเพียงอย่างเดียว โดยลืมนึกถึงองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการนำไปสู่ความสำเร็จในการเล่นกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ นั่นคือ องค์ประกอบของการฝึกทักษะ องค์ประกอบของการฝึกทางจิตใจ และองค์ประกอบของการฝึกทักษะทางกาย ทั้ง 3 องค์ประกอบเป็นแนวทางหลักสำหรับการจัดโปรแกรมการฝึกซ้อมให้กับนักกีฬาทุกชนิด แต่จะให้ความสำคัญในองค์ประกอบไหนมากกว่ากันขึ้นอยู่กับความจำเป็นที่เฉพาะกับรูปแบบของเกมส์ และกติกาการแข่งขัน สำหรับกอล์ฟเป็นกีฬาที่เกี่ยวข้องกับจิตใจเป็นลำดับแรก ดังที่นักกอล์ฟระดับโลกหลายคนได้กล่าวถึงว่า “กอล์ฟเป็นเกมส์แห่งจิตใจ” แต่อย่างไรก็ตามหากขาดการพัฒนาทักษะที่ดีพอ และสภาพร่างกายไม่เอื้อต่อการแข่งขัน ย่อมเป็นสิ่งที่ยากลำบากในการที่จะเข้าถึงความสำเร็จที่ต้องการ
ดังนั้นผู้ที่เป็นตัวแทนขององค์ประกอบทั้ง 3 ได้แก่ ผู้ฝึกสอนด้านทักษะกอล์ฟ (โปร) นักจิตวิทยาการกีฬา และผู้ฝึกสอนด้านสมรรถภาพทางกายต้องทำงานร่วมกัน โดยอาศัยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การกีฬาในด้านต่างๆ ต่อไปนี้เป็นแนวทางในการจัดโปรแกรมการฝึกซ้อม ได้แก่ สรีรวิทยาการออกกำลังกาย กายวิภาคศาสตร์ โภชนศาสตร์การกีฬา กีฬากับการแพทย์ ชีวกลศาสตร์การกีฬา จิตวิทยาการกีฬา เทคโนโลยีทางการกีฬา และการเป็นผู้ฝึกกีฬา ในองค์ความรู้แต่ละด้านมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป เพื่อให้เกิดความเข้าใจจะยกตัวอย่างประกอบโดยย่อดังนี้
สรีรวิทยาการออกกำลังกาย เป็นศาสตร์ที่มีการศึกษาเกี่ยวกับการตอบสนองและการปรับตัวของระบบต่างๆ ต่อการออกกำลังกาย การฝึกซ้อมกีฬา รวมถึงต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ร่างกายต้องมีการออกแรงเพื่อการเลื่อนไหว  ทั้งนี้การตอบสนองและการปรับตัวของระบบต่างๆ จะมีความแตกต่างกันตามความหนัก ปริมาณ ความถี่ และความเฉพาะเจาะจง ของงานที่ได้รับ เช่น อัตราการเต้นหัวใจต่อหนึ่งนาทีที่ตอบสนองต่อการออกรอบ 18 หลุม โดยใช้การเดินจะเต้นเร็วกว่า การนั่งรถกอล์ฟ ที่เป็นเช่นนี้เพราะร่างกายต้องมีการเคลื่อนไหวที่มากกว่า กล้ามเนื้อที่ต้องออกแรงจึงต้องการสารอาหารและออกซิเจนจากเลือดเพื่อไปสร้างพลังงานให้เพียงพอต่อการทำกิจกรรม ดังนั้นหัวใจจึงต้องเพิ่มปริมาณการสูปฉีดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อให้มากขึ้นตามลำดับ สำหรับการปรับตัวเป็นการที่เกิดจากการทำกิจกรรมนั้นซ้ำๆ เป็นเวลาหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน  เช่น การฝึกเพื่อให้กล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้นที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต้องใช้เวลาประมาณ 12 สัปดาห์ เป็นต้น

ข้อมูลจาก http://www.hotgolfclub.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น