วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การรักษาอาการปวดคอปวดหลังเรื้อรังโดยไม่ต้องผ่าตัด

การรักษาอาการปวดคอปวดหลังเรื้อรังโดยไม่ต้องผ่าตัด

อาการปวดคอปวดหลังเป็นปัญหาที่พบกันได้บ่อยในคนทุกวัย
  
อาการปวดสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งทำให้ยากต่อการวินิจฉัยและการรักษา สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการปวดคอปวดหลังอย่างเฉียบพลันเกิดจากการใช้งานของคอ หรือหลังมากเกินไปในวิธีที่ผิด เช่น การก้มหรือเงยนานเกินไปในเวลาทำงาน นั่งหรือนอนผิดท่า ยกของหนัก นั่งทำงานหรือขับรถนาน ๆ เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายหักโหมเกินไป หรือบางครั้งอาจเกิดขึ้นหลังประสบอุบัติเหตุ
  
พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อกับเส้นเอ็นต่าง ๆ รอบกระดูกสันหลังรวมถึงหมอนรองกระดูกเกิดการบาดเจ็บจากการฉีกและอักเสบ ผลที่ตามมาคือ ความตึงเคล็ดของกล้ามเนื้อที่คอหรือหลัง นอกจากนั้นการเคลื่อนไหวที่คอและหลังจะขยับได้น้อยลงและจะมีอาการปวดเวลาใช้ งาน ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะดีขึ้นเอง ซึ่งการใช้ยาแก้ปวดแก้อักเสบสามารถบรรเทาอาการให้หายเร็วขึ้นได้
  
ในกรณีที่ผู้ป่วยปวดคอหรือหลังเรื้อรังมานาน โดยเฉพาะผู้ป่วยวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุ สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการเสื่อมของข้อกระดูกคอหรือหลัง หรือโรคข้อกระดูกอักเสบ โดยที่อาการปวดมักเกิดขึ้นในเวลาที่ใช้งาน เช่น ก้ม เงย หรือยกของ
  
ด้านการรักษา นอกจากการใช้ยาแล้ว ยังต้องทำกายภาพบำบัดร่วมด้วยเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตให้เหมาะสม วิธีรักษาอื่น ๆ ที่สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดคือ การรักษาด้วยอัลตราซาวด์ การดึงคอดึงหลัง การใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าและการออกกำลังกายที่หลัง ซึ่งเป็นวิธีการออกกำลังกายที่เน้นกล้ามเนื้อบริเวณหลัง โดยทำท่าเหมือนการวิดพื้นแต่แตกต่างจากการวิดพื้นตรงที่สะโพกติดพื้นและให้ ส่วนบนของลำตัวตั้งแต่ศีรษะถึงเอวเงยขึ้นจากพื้น ฉะนั้นกล้ามเนื้อหลังจะแอ่นขึ้นมาดังภาพ
  
ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวลงแขนหรือขาร่วมด้วย มีอาการอ่อนแรงชาหรือเดินลำบาก แสดงว่าเกิดการกดทับเส้นประสาท ส่วนใหญ่จะมาจากหินปูนที่เกาะรอบ ๆ ข้อกระดูกที่คอหรือหลังที่มีสาเหตุมาจากความเสื่อมของข้อหรือจากหมอน รองกระดูกที่กดทับเส้นประสาท
  
สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้แต่พบไม่บ่อยนักและเป็นสาเหตุสำคัญที่ควรรีบรักษาคือ เนื้องอกที่กระดูกสันหลัง หรือการติดเชื้อในกระดูกสันหลัง ถ้ามีอาการเช่นนี้ควรรีบมาพบแพทย์เพราะถ้าได้รับการรักษาไม่ทันท่วงทีระบบ ประสาทอาจจะไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ แต่ถ้าได้รับการรักษาเร็วเส้นประสาทสามารถกลับมาทำงานเป็นปกติได้ โดยแพทย์จะประเมินอาการและพิจารณาการทำเอกซเรย์และสแกนแม่เหล็ก (เอ็มอาร์ไอ) เพื่อแยกสาเหตุเหล่านี้ และเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม
  
ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ ปัจจุบันนี้เราสามารถค้นหาสาเหตุความเจ็บปวดได้โดยละเอียดพร้อมรักษาได้ อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องผ่าตัด ด้วยวิธีฉีดยาชาและยาลดการอักเสบเข้าไปที่โครงกระดูกสันหลังและรอบ ๆ เส้นประสาทอย่างตรงจุดที่ต้นสาเหตุโดยใช้เอกซเรย์นำทิศทางปลายเข็มไปยัง ตำแหน่งที่ต้องการ เช่น ที่หมอนรองกระดูกสันหลังบริเวณรอบ ๆ เส้นประสาทเล็กที่ออกมาจากโครงกระดูกสันหลัง ข้อเล็กของกระดูกสันหลัง ข้อที่เชื่อมกับสะโพก หรือเป็นการฉีดซีเมนต์เทียม เพื่อรักษาอาการปวดหลังหรือหลังค่อมจากโรคกระดูกพรุน เพื่อเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก รวมถึงแก้ไขความโค้งผิดปกติของกระดูกสันหลังด้วย ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องผ่าตัดและกลับบ้านได้ภายในวันเดียวกัน
      
สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดนั้น การผ่าตัดด้วยวิธีแผลเล็กเจ็บน้อย (Minimally Invasive Spinal Surgery) ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ปลอดภัยมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วและกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติดังเดิม.

นายแพทย์วัฒนา มหัทธนกุล
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาท
สาขาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น