วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

เมนูอาหารป้องกันมะเร็ง

โรคมะเร็งมีลักษณะพิเศษ คือ มีการแบ่งตัวของเซลล์ที่ผิดปกติ เซลล์พวกนี้จะแพร่กระจายไปอย่างอิสระ และทำลายอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ การแบ่งตัวของเซลล์เริ่มต้นที่ใดก็มักจะเรียกชื่อมะเร็งตามที่นั้นๆ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม เป็นต้น

มะเร็งเกิดขึ้นจากเซลล์เพียงเซลล์เดียว แต่สามารถแพร่กระจายเป็นทวีคูณได้อย่างรวดเร็ว เพราะเซลล์เหล่านี้เป็นเซลล์ที่ผิดปกติ จึงไม่ทำหน้าที่เหมือนเดิม เซลล์พวกนี้จะดึงเอาสารอาหารในร่างกายมาใช้ในการเจริญเติบโต และทำลายเซลล์ปกติในอวัยวะหรือเนื้อเยื่อนั้นๆ เมื่อทิ้งไว้นานเข้าเซลล์มะเร็งนี้จะเริ่มรุกรานไปยังอวัยวะอื่นๆ

สาเหตุของโรคมะเร็งยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มี สารก่อมะเร็ง ที่อาจมาจากเชื้อไวรัสและสารเคมีบางชนิด ตลอดจนปัจจัยทางสภาพแวดล้อมและนิสัยการบริโภค มีโรคมะเร็งบางชนิดที่มีพันธุกรรมเกี่ยวข้องด้วย

ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างสามารถควบคุมได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้มะเร็งเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น และวิธีรักษาที่ดีที่สุดเมื่อมะเร็งเกิดขึ้นแล้ว คือ การหยุดการแพร่กระจายให้เร็วที่สุด นั่นคือต้องตรวจพบในระยะเนิ่นๆ การตรวจร่างกายเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกคน

สารอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง ความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับโรคมะเร็งอาจไม่ชัดเจนเท่ากับอาหารกับโรคหัวใจ แต่มีโรคมะเร็งบางชนิดโดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งเต้านม ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับนิสัยการกินดื่ม และ คำแนะนำสำหรับการป้องกันโรคมะเร็งไม่แตกต่างจากคำแนะนำอาหารเพื่อสุขภาพทั่วไปมากนัก อย่างเช่น

รับประทานผักและผลไม้มากๆ ผักและผลไม้มีสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพกว่า 100 ชนิด ทั้งวิตามิน เกลือแร่ เส้นใยอาหาร และสารอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้รับประทานผักและผลไม้สีเข้ม ๆ วันละ 5 ส่วน ซึ่ง 1 ส่วนที่ว่านี้ เท่ากับ ผักสุก 1 ทัพพี หรือ ผลไม้ประมาณ 6-8 ชิ้นคำ หรือ 1 ลูกเล็ก ผักและผลไม้หลายชนิดมี เบต้าแคโรทีน (ซึ่งเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกาย) วิตามินซี อี และซีเลเนียม วิตามินและเกลือแร่เหล่านี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วปกป้องเซลล์ต่างๆ ในร่างกายจากการถูกทำลาย นอกจากนี้สารต้านอนุมูลอิสระยังช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกายอีกด้วย สารต้านมะเร็งอื่นๆ ที่พบในผักและผลไม้ ได้แก่ เส้นใยอาหาร ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งในลำไส้ใหญ่ และสารไฟโ ตเคมิคอล ซึ่งพบในอาหารจากพืช พืชผักจะผลิตสารไฟโตเคมิคอลขึ้นมาเพื่อปกป้องจากเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราต่างๆ ตัวอย่างสารไฟโตเคมิคอล ได้แก่ แคโรเทอนอยด์ หรือเบต้าแคโรทีน ในผักสีเขียวเข้ม ส้ม เหลือง สารอูทีนในบร็อคโคลีและผักใบเขียวเข้ม และสารไลโคพีนในมะเขือเทศ สารไฟโตเคมิคอลมีกระบวนการทำงานต่างกัน บางชนิดมีหน้าที่ช่วยเอนไซม์ลดปฏิกิริยาของสารก่อมะเร็งลง หรือบางชนิดอาจทำลายสารเหล่านี้เลย ผักตระกูลกะหล่ำเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจมีส่วนช่วยลดสารก่อมะเร็งลง โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผักเหล่านี้ได้แก่ ดอกกะหล่ำ บร็อคโคลี ผักกาด แขนงผัก หัวไชเท้า และผักวอเตอร์เครส อุดมไปด้วย เบต้าแคโรทีน วิตามินซี และไฟเบอร์ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งของแคลเซียม ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิคที่ดีต่อสุขภาพด้วย


เลือกรับประทานเมล็ดถั่ว ธัญพืช ผู้เชี่ยวชาญพบว่าการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง อาจช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ สาเหตุก็คือ เส้นใยอาหารช่วยให้ของเสียผ่านลำไส้ใหญ่ได้เร็วขึ้น สารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายจึงไม่สามารถมีเวลาทำปฏิกิริยากับผนังลำไส้ได้นาน เพื่อให้ได้รับเส้นใยอาหารอย่างเพียงพอ แนะนำให้รับประทานผลไม้อย่างน้อย 2 ส่วน ผัก 3 ทัพพี ข้าวกล้อง เมล็ดถั่ว และธัญพืชอีก 3 ทัพพี ต่อวัน ถ้าใครไม่ชินกับอาหารที่มีกากใยสูง นั่นคือ ถ้ารับประทานมากๆ จะทำให้เกิดลม แน่นท้อง หรือถ่ายท้องมาก ควรป้องกันโดยค่อยๆ เพิ่มอาหารที่มีกากใยสูงทีละอย่าง จนร่างกายเกิดความเคยชิน เมื่อรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ควรดื่มน้ำตามมากๆ ด้วย เพราะเส้นใยอาหารนี้เป็นเหมือนฟองน้ำที่ดูดน้ำจากลำไส้ใหญ่ ช่วยเจือจางสารก่อมะเร็ง ทำให้ของเสียต่างๆ ผ่านลำไส้ใหญ่ได้เร็ว และช่วยป้องกันท้องผูกได้ด้วย

เลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบความเกี่ยวข้องระหว่างอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง กับโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมลูกหมาก อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงพบมากในไขมันสัตว์ เนย เนยแข็ง ครีมสด นมไขมันเต็ม ผู้ที่มีนิสัยชอบรับประทานอาหารไขมันอิ่มตัวสูง มักได้รับเส้นใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระที่มาจากพืชผักน้อย ที่แน่ๆ ไขมันในอาหารทำให้อาหารรสชาติดีขึ้น และไขมันในปริมาณที่พอเหมาะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย ดังนั้นวิธีทำให้ร่างกายได้รับไขมันที่ดีในปริมาณพอเพียง มีดังนี้


* ตัดไขมันออกจากเนื้อสัตว์ให้มากที่สุด

* เลือกรับประทานปลาอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์

* รับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืช ให้มากๆ

* เลือกนม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมไขมันต่ำ หรือปราศจากไขมัน

* ประกอบอาหารโดยใช้วิธีที่ใช้น้ำมันไม่มาก และเลี่ยงกะทิ

* ระวังเรื่องปริมาณอาหาร

* ถ้ามื้อไหนรับประทานอาหารไขมันสูง ควรรักษาสมดุลในอาหารมื้อถัดไปโดยการเลือกอาหาร เบาๆ

* เลือกใช้น้ำมันพืชทุกครั้งที่ประกอบอาหาร

ที่มาข้อมูล : กฤษฎี โพธิทัต นิตยสาร Health Today
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น