วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการฝึกกล้ามเนื้อแบบไอโซเมตริค


เชาว์   เหลืองอร่าม  (2527)   ได้ศึกษาถึงผลของการฝึกแบบไอโซโทนิค   ไอโซเมตริค    และการฝึกแบบผสมผสานที่มีต่อระยะทางการทุ่มน้ำหนัก  พบว่าการฝึกกำลังกล้ามเนื้อแบบไอโซโทนิค    ไอโซเมตริค   และการฝึกแบบผสมผสาน  ทำให้ค่าเฉลี่ยของระยะทางการทุ่มน้ำหนักไม่แตกต่างกัน ซึ่งมีความคิดเห็นสอดคล้องกับงานวิจัยของ  บาร์  (Barr, 1993)  ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการตอบสนองของประสาท และกล้ามเนื้อต่อการฝึกแบบไอโซเมตริค  ที่กล้ามเนื้อ  ไตรเซ็บ   กลุ่มตัวอย่างเพศหญิงจำนวนทั้งสิ้น    18  คน  ถนัดขวา  ทำการฝึกแบบไอโซเมตริค  ที่กล้ามเนื้อไตรเซ็บ  ข้างขวา  เป็นเวลา   6   สัปดาห์  ภายหลังการฝึก  พบว่า  การฝึกแบบไอโซเมตริค  ทำให้กล้ามเนื้อไตรเซ็บ  มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .05
            ในการฝึกกล้ามเนื้อแบบไอโซเมตริค  มีวิธีการฝึกด้วยกัน สองแบบ  คือการฝึกแบบเกร็งกล้ามเนื้อซ้ำๆกัน    กับเกร็งกล้ามเนื้อครั้งเดียว    เพื่อนใจ  บุญจันทร์ (2533)  ได้ศึกษาถึงผลของการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแบบ ไอโซเมตริคสูงสุด ต่อความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อควอไดรเซฟส์ฟีมอริส  และเปรียบเทียบความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อจากกลุ่มที่ได้รับการฝึกแบบเกร็งกล้ามเนื้อเต็มที่ครั้งเดียวกับกลุ่มที่ได้รับการฝึกชนิดเกร็งกล้ามเนื้อเต็มที่ซ้ำๆกัน  10  ครั้ง  โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นอาสาสมัครเพศหญิง  อายุระหว่าง  20 23 ปี ใช้ไดนาโมมิเตอร์วัดการหดตัวสูงสุดแบบ ไอโซเมตริค ในท่านั่ง สะโพกและเข่า อยู่ในท่างอทำมุม  120  และ  60 องศา ตามลำดับ ทดสอบความทนทานโดยวัดเวลานานที่สุดที่สามารถออกแรงดึงได้เต็มที่ กลุ่มทดลองทำการฝึกเกร็งกล้ามเนื้อเต็มที่นาน  6 วินาที 1 ครั้ง/วัน  5  วัน/สัปดาห์  เป็นเวลา   4  สัปดาห์  วัดความแข็งแรง  ความอดทน และพื้นที่หน้าตัดของกล้ามเนื้อต้นขา  แล้วแบ่งกลุ่มทดลองเป็น  2  กลุ่มย่อยกลุ่มทดลองที่ 1 ทำการฝึกเหมือนเดิม คือ  1  ครั้ง/วัน ส่วนกลุ่มทดลองที่ 2 ฝึก  10  ครั้ง/วัน (พักระหว่างครั้งนาน  20  วินาที) ทดสอบความแข็งแรง  ความอดทน และพื้นที่หน้าตัดของกล้ามเนื้อต้นขา  ภายหลังการฝึก  4  สัปดาห์และ  8  สัปดาห์  ผลการทดลองพบว่า  การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแบบไอโซเมตริคสูงสุดสามารถเพิ่มความแข็งแรง  และความอดทนของกล้ามเนื้อได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .01  และไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มที่ได้รับการฝึกแบบเกร็งกล้ามเนื้อเต็มที่ครั้งเดียวกับกลุ่มที่ได้รับการฝึกชนิดเกร็งกล้ามเนื้อเต็มที่ซ้ำๆกัน    10  ครั้ง (ที่ระดับ  .01) 
            นอกจากนี้ยังพบว่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อจะเพิ่มขึ้นสูงมากภายหลังสิ้นสุดการฝึกสัปดาห์ที่  4  ในกลุ่มทดลองที่ 1  และกลุ่มทดลองที่ 2   (เพิ่มขึ้น  58.32  และ  57.72 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ) และไม่พบการเปลี่ยนแปลงขนาดพื้นที่หน้าตัดของกล้ามเนื้อต้นขา (ที่ระดับ  .05)  ผู้วิจัยจึงสรุปว่าการเพิ่มความแข็งแรง  และความอดทนของกล้ามเนื้อในการศึกษาครั้งนี้     ไม่น่าจะเกิดจากการเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อ    ซึ่งจากการวิจัยของออลเวย์ส (Always, Dale, & Macdougall, 1990)  ได้รายงานผลการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงการหดตัวของกล้ามเนื้อ  triceps  จากความหนักที่แตกต่างกัน  ในการฝึกกล้ามเนื้อแบบ ไอโซเมตริค พบว่า  การฝึกกล้ามเนื้อแบบ ไอโซเมตริค ที่มีความหนัก ค่อนข้างน้อย  มีผลต่อการพัฒนาขนาดของกล้ามเนื้อได้ดี   จากงานวิจัยดังกล่าว  แสดงให้เห็นว่า  ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแบบไอโซเมตริค อาจไม่มีความสัมพันธ์กับขนาดของกล้ามเนื้อ      
           นอกจากนี้  วิชัย   อึงพินิจพงศ์  (2533  อ้างอิงจาก  Loberson  , 1979)  ได้รายงานว่าการเกร็งกล้ามเนื้อแบบไอโซเมตริค 5 10  ครั้ง/วัน  5  วัน/สัปดาห์  ดีกว่าการฝึกเกร็งกล้ามเนื้อเพียงครั้งเดียวในเรื่องของทำให้เกิดแรงจูงใจในการฝึก   พบว่าการฝึกแบบนี้สามารถเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้เฉพาะมุมที่ได้รับการฝึก  หรือช่วงมุมการเคลื่อนไหวที่ใกล้เคียงกับมุมที่ได้รับการฝึก  โดยเฉลี่ยประมาณบวกลบ  10  องศา  ดังนั้นถ้าต้องการให้เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อตลอดช่วงการเคลื่อนไหวข้อทั้งหมดจำเป็นต้องฝึกหลายๆช่วงของมุมการเคลื่อนไหว  และควรฝึกในมุมที่ห่างกันไม่เกิน  20  องศา



   
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น