วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ออกกำลังจิต

ชีวิตของคนเราประกอบด้วย กาย กับ จิต ถ้าจิตของเราแข็งแรง ย่อมเป็นคุณูปการให้กายภายนอกมีกำลัง ไม่อ่อนล้า ดังคำกล่าวของผู้รู้ที่ว่า " จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว " 


ถ้าเราดำเนินชีวิตอย่างต้องการเพียงความสุขภายนอก ไม่คำนึงถึงความสำเร็จภายใน คือจิตที่ไม่ขุ่นมัว ไม่นานเราก็จะอ่อนล้าหมดแรง ฉะนั้น ต้องฉลาดที่จะออกกำลังภายใน ซึ่งในที่นี่ก็คือ " การออกกำลังจิต " 


ทุกวันนี้ คนหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้นด้วยหลากหลายเหตุผล แต่หนึ่งในนั้นเห็นจะได้แก่การตระหนักรู้ว่า เมื่อกายภายนอกแข็งแรง สมบูรณ์ ไม่อ่อนแรง ย่อมส่งผลให้ใจผ่อนคลาย ได้พัก ในขณะเดียวกับใจเราที่สบายแข็งแกร่ง ก็จะส่งเป็นอานิสงส์ให้กายภายนอกเหนื่อยน้อยลงเป็นวงจร


การฝึกใจออกกำลังจิตไม่ต้องอาศัยการเลือกวันฤกษ์ดี เพราะเป็นสิ่งที่เราเริ่มต้นทำได้ทุกวัน ทุกขณะจิต กระทั่งผู้หญิงที่กำลังอุ้มท้อง การออกกำลังจิตจะส่งผลโดยตรง ในการกำหนดใจของลูกน้อยในครรค์ ตัวอย่างง่ายๆก็คือ การภาวนากับการฟังดนตรี ซึ่งจะทำให้เราสงบในเบื้องแรก แล้วก็มองลึกเข้าไปอีกว่า จิตที่ว่าสงบนั้น มีอะไรเป็นกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง การเข้าสู่กระแสแห่งธรรมชาติ หรือการเข้าสู่กระแสของการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ใจของเราแข็งแรง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งก็คือเป้าหมายของการออกกำลังจิต มีจิตที่มีพุทธิภาวะ เพราะรู้ ตื่น และเบิกบาน รู้เท่าทันกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม คนอย่างนี้จะเป็นที่รัก เพราะไร้ซึ่งความหลงอารมณ์ หลับใหล เมามัว ประมาท ขาดสติ แต่เบิกบานอยู่เนืองนิตย์ เพราะมีชีวิตในปัจจุบัน ขณะที่เจริญสติปัญญา สติ คือ การตระหนักการรู้เท่าทันการใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจปัญญา คือ ความรู้แจ้งในปัจจุบันขณะ ที่จะแก้ไขชีวิตให้รอดพ้น จากความประมาททั้งปวง


จิตของเราต้องไม่ปรุงแต่งกับทุกเรื่องที่เข้ามากระทบ ฝึกมีชีวิตที่จะอยู่ในปัจจุบันขณะ ฝึกให้จิตอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ฝึกอยู่กับลมหายใจแห่งสติ รู้ถึงการกระทบ.....แต่ไม่กระเทือน


การออกกำลังจิตทำได้ไม่ยาก ขอเพียงหายใจเข้า.....รู้ หายใจออก.....รู้ ตาดู.....หูฟัง.....จมูกได้กลิ่น.....ลิ้นลิ้มรส.....กายสัมผัส.....ใจกระทบกับอารมณ์.....ก็ตระหนักรู้ได้ว่า สรรพสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง ทั้งที่ชอบและที่ชัง


ลองมองดูดอกไม้สักดอก เมื่อแรกนั้นดอกสวยสด ต่อมากลับเหี่ยวเฉาตามวันเวลา เมื่อเห็นเช่นนี้ เราย่อมรู้ว่า ดอกไม้ย่อมแห้งเหี่ยวตามกาล แต่ใจของเราต้องสวนทาง คือ ไม่ห่อเหี่ยวตาม ต้องเข้าถึงความเป็นจริงที่ว่า ทุกสิ่งต้องเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับชีวิตคนเรา ยิ่งเราตกอยู่ในภาวะลำบาก เรายิ่งต้องหันกลับมามองเห็นคุณค่าของชีวิตเราให้มากที่สุด


จงเปิดใจมองทุกสิ่งรอบตัว แล้วย้อนกลับมามองตัวเราเองอย่างมีเมตตาต่อตัวเอง และรักตัวเองอย่างไม่เห็นแก่ตัว เพียงหนึ่งลมหายใจแห่งสติปัญญา ถ้าเราใช้เป็น.....ก็จะไม่เป็นทุกข์


จากหนังสือ.....สนทนาประสาเพื่อนสุข โดยแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น