วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วิธีการจัดการกับสภาพจิตใจในการเล่นกอล์ฟ


วิธีการจัดการกับสภาพจิตใจในการเล่นกอล์ฟ
เราจะเห็นได้ว่า  จิตใจและอารมณ์ของเราเองที่เป็นอุปสรรคต่อการแสดงความสามารถสูงสุดในการเล่นกอล์ฟ   การแก้ไขปัญหาของนักกอล์ฟ  จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องไปจัดการกับต้นเหตุของปัญหา  นั่นคือการตอบสนองตามธรรมชาติของร่างกายและจิตใจของนักกีฬาที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งเร้า  เช่นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ   การหยุดความคิด  การคิดในแง่บวก  ฯลฯ

มีทักษะทางจิตวิทยาการกีฬาหลายแบบหลายประเภทมากที่นักกีฬาและผู้ฝึกสอนสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบุคลิกภาพและสิ่งแวดล้อมสถานการณ์ของนักกีฬา   เช่นนักกีฬาที่มีอาการเกร็งขณะแสดงความสามารถและทำให้เล่นได้ไม่ดี  ก็อาจจะต้องฝึกการผ่อนคลายโดยการหายใจ (Breathing Technique)  ผ่อนคลายกล้ามเนื้อแบบต่อเนื่อง (Progressive Muscle Relaxation)  และจนกระทั่งฝึกการผ่อนคลายแบบประยุกต์ (Applied Relaxation)  ต่อไปในที่สุด  ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสภาพการตอบสนองและสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นกับนักกีฬา

ในนักกีฬาที่มีการตอบสนองทางจิตใจทำให้ความสามารถลดลง  นักกีฬาอาจจะเลือกฝึกเทคนิคการหยุดความคิด (Thought Stopping)  หรือหากปัญหาเกิดขึ้นมาก  ก็อาจจะต้องฝึกเทคนิคการรวบรวมสมาธิ  หรือถึงขั้นการฝึกสมาธิ (Meditation)  หากจำเป็น

การฝึกทักษะทางจิตวิทยา (Psychological Skill Training, PST)  เป็นเรื่องที่นักกีฬาและโค้ชจำเป็นต้องศึกษาก่อนที่จะนำไปใช้   เนื่องจากการเลือกฝึกทักษะที่ไม่เหมาะสม  หรือไม่ถูกต้องตามขั้นตอน  อาจไม่ทำให้เกิดผลที่ต้องการ  และยิ่งไปกว่านั้น  อาจทำให้เกิดผลที่ไม่ต้องการและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้   การที่จะเริ่มใช้  PST  กับนักกีฬาได้  จึงต้องมีการวิเคราะห์  วินิจฉัย  สภาพจิตใจและความต้องการในการฝึกของนักกีฬาเสียก่อน  แล้วจึงเลือกเทคนิคการฝึกที่เหมาะสมให้กับนักกีฬาต่อไป   ในขณะเดียวกัน  PST บางชนิด  ก็ออกแบบมาเพื่อพัฒนาสมรรถภาพทางจิตใจมากกว่าเพื่อปรับปรุงหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่นเทคนิคการจินตภาพ (Sport Imagery)   การจะนำเทคนิคแต่ละอย่างไปใช้  จึงต้องศึกษาและมีความเข้าใจต่อนักกีฬา  สิ่งแวดล้อม  และเทคนิคต่างๆ  อย่างถ่องแท้เสียก่อน  จึงจะนำความสำเร็จมาสู่นักกีฬาในการแข่งขันได้


ที่มา sportmindmatters.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น