วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การเปลี่ยนแปลงชีวิต ด้วยพลังใจ


การเปลี่ยนแปลงชีวิต ด้วยพลังใจ


การเปลี่ยนแปลงชีวิต ด้วยพลังใจ
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.thaifamilylink.net
ขอบคุณคุณหมอสมรัก และทีมงานสมาคมสายใยครอบครัวทุกท่าน ที่ให้โอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านคอลัมน์นี้…ผมได้รับทุนรัฐบาลไทยให้ศึกษาเฉพาะทางด้าน “กิจกรรมบำบัดจิตสังคม” และสร้างงานวิจัยเรื่อง “ความล้าหลังโรคเรื้อรังและการใช้เวลาว่างที่มีคุณค่า” ณ ออสเตรเลียตะวันตกแต่เมื่อกลับมาทำงานที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ผมได้เปลี่ยนแปลงตัวตนมาศึกษา การจัดระบบสุขภาพของกิจกรรมบำบัดมากขึ้นเพื่อเพิ่ม สาระสำคัญให้ผู้รับบริการได้พัฒนาทักษะการแก้ไขปัญหา การตัดสินใจ การใช้ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์ การสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล และการฝึกทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของร่างกายสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง โดยวิเคราะห์ความจำเป็นของประชากรไทยต่อการพัฒนาทักษะชีวิต ความสุข และความสามารถ ในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตหลังเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น อัมพาต มะเร็ง สายตาเลือนราง ซึมเศร้า จิตเภท ฯลฯ
การจัดการระบบสุขภาพของกิจกรรมบำบัดนั้น ทำให้ผมเรียนรู้ว่า “การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวช ควรเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ร่างกาย และจิตสังคมมากกว่าแก้ไขความบกพร่องทาง จิตเวชอย่างเดียว” ซึ่งงานวิจัยสากลที่ทันสมัยได้พัฒนากระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายจากแนวคิดของการจัดการตนเอง (Self-management concepts) และกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตสังคมจากรูปแบบ การฟื้นตัว (Recovery model) โดยทั้งสองกระบวนการมีเนื้อหาครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงชีวิตด้วยพลังใจ ได้แก่ การปรับสิ่งแวดล้อมภายในตัวตนให้มีการตัดสินใจด้วยตนเองอย่างอิสระและมุ่งมั่น (Self-determination) ให้เกิดการดัดแปรสิ่งแวดล้อมภายนอกตัวตนที่มีความหวัง (Hope) มีการเยียวยา (Healing) มีพลังชีวิต (Empowerment) และมีการติดต่อกัน (Connection) ยกตัวอย่าง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ (Learning activity) ให้ผู้รับบริการได้ฝึกการจัดการตนเอง คือ คิดดี พูดดี มองโลกในแง่ดี สร้างแรงจูงใจดี จัดการเวลาดี และจัดการกิจกรรมการดำเนินชีวิตดี หรือ การจัดกิจกรรมกลุ่มแบบพลวัติ (Dynamic group activity) ให้ผู้รับบริการได้ฝึกทักษะการตัดสินใจ ทักษะการแก้ไขปัญหา ทักษะการใช้ทรัพยากร ทักษะการสร้างสัมพันธภาพ และทักษะการทำงานอย่างมีระบบ เป็นต้น
จะเห็นว่า บทบาทของจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักกิจกรรมบำบัดจิตสังคม นักจิตวิทยาคลินิก นักอาชีว-บำบัด/ฝึกอาชีพ นักสังคมศาสตร์การแพทย์ นักนันทนาการบำบัด กำลังจะเปลี่ยนแปลงสู่การแสดงบทบาทผู้ให้บริการ ที่คอยกระตุ้น ช่วยเหลือ แนะนำ ให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ และมีส่วนร่วมทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตไปพร้อมๆ กับผู้รับบริการในสิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์ชีวิตจริง นอกจากนี้ รูปแบบการจัดกิจกรรมการรักษาที่สถานพยาบาลก็กำลังจะเปลี่ยนแปลงสู่การจัดกิจกรรมการส่งเสริมความเชื่อมั่นในความสามารถของผู้รับบริการบนพื้นฐานความเชื่อ ความคิด จิตวิญญาณ/การพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ และการปรับตัวต่อ สิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์ชีวิตจริง เช่น ผู้รับบริการที่มีความบกพร่องทางจิตประสาทได้รับบริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบโปรแกรมผสมผสานและมีความถี่ที่ชัดเจน เริ่มจากโปรแกรมฝึกการรู้คิด 3 สัปดาห์ (45 นาทีต่อสัปดาห์) กับโปรแกรมฝึกทักษะชีวิต 3 สัปดาห์ (1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และเมื่อประเมินคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็เข้าโปรแกรมฝึกการจัดการตนเอง 6 สัปดาห์ (1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) พร้อมกับโปรแกรมฝึกทักษะทางสังคม 6 สัปดาห์ (1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และเมื่อประเมินคุณภาพชีวิตดีขึ้น ก็เข้าโปรแกรมการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ 3 สัปดาห์ (3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) พร้อมกับโปรแกรมการใช้เวลาว่างให้คุ้มค่า 3 สัปดาห์ (3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) สุดท้ายก็เข้าโปรแกรมฝึกอาชีพ 20 ชั่วโมง (ครึ่งเช้า) กับเข้าโปรแกรมพลเมืองดี 20 ชั่วโมง (ครึ่งบ่าย) ในสถานที่ทำงาน บ้าน หรือชุมชนนอกสถานพยาบาล
จากโปรแกรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในสถานพยาบาลนั้น ผู้ให้บริการควรค่อยๆ ปรับลดลง และเกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตสังคม สู่ระบบสุขภาพของกิจกรรมบำบัดและสหวิชาชีพด้านสุขภาพจิตเพื่อการปรับตัวด้านอาชีพและสังคมมากขึ้น ซึ่งประกอบด้วย รูปแบบคลับเฮาส์ (Clubhouse model) ศูนย์ดำรงชีวิตอิสระ (Independent Living Center, ILC) ศูนย์การเรียนรู้ทักษะชีวิต (Life skills learning center) ศูนย์กีฬาและนันทนาการ (Sport and recreational center) รูปแบบอาสาสมัครชุมชน (Community volunteer model) และรูปแบบพลเมืองดี (Citizenship model) ฯลฯ แต่ระบบสุขภาพข้างต้นยังไม่ปรากฏถึงการวิจัยและการพัฒนางานบริการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในสังคมไทยมากนัก โดยมีอุปสรรคในหลายมิติ เช่น ขาดแคลนบุคลากรหรือ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และสุขภาพจิต ขาดระบบการประเมินความสุขความสามารถในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตจริงตามบริบทไทย ขาดระบบการประเมินคุณภาพของโปรแกรมหรือกระบวนการการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตสังคม ขาดเครือข่ายพัฒนางานบริการสุขภาพจิตแบบสหวิชาชีพ ขาดโอกาสของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ให้บริการ และผู้รับบริการสู่การฝึกปฏิบัติจริงในสถานการณ์ชีวิตนอกสถานพยาบาล เป็นต้น
ดังนั้นผมจึงขอเป็นเสียงหนึ่งที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประชาคมผู้ให้บริการและผู้รับบริการสุขภาพจิตทั้งหลาย ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตสังคมให้มีความหลากหลายและ เข้าถึงได้ตามมาตรฐานสากล ตลอดจนมีความมุ่งมั่นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้รับบริการด้านสุขภาพจิตที่มีความสุขด้วยพลังใจของประชากรไทยทุกๆ คนที่ร่วมด้วยช่วยกันสร้างสรรค์ระบบการพัฒนาสุขภาวะทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมได้อย่างมีคุณภาพโดยถ้วนหน้ากันทั้งประเทศในอีก 5-10 ปี ข้างหน้านี้ พวกเรามาลองคิดบวก บวก และบวก เพื่อจุดประกายความคิดสู่การกระทำเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตด้วยพลังใจกันเถอะครับ…
ก้าวย่างสู่เส้นทางการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวช
(ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น