วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

โรคลมแดด

โรคลมแดด
ปัจจุบันโลกเราร้อนขึ้นมาก  โรคหลาย ๆ โรคที่มีผลจากการเพิ่มอุณหภูมิของโลก  สภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ๆ ทุกวันโดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนนี้    ทำให้โรคลมแดดหรือฮีต สโตรก(Heat Stroke)เป็นปัญหาสำคัญ    สาเหตุหลักคือการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับความร้อนที่เกิดขึ้น(ภายนอกและภายในร่างกาย)ได้ทำให้เกิดการเจ็บป่วย   อาจมีอาการตั้งแต่น้อยจนถึงมาก   โดยภาวะฮีต สโตรกนี้เป็นอาการที่มีความรุนแรงที่สุด    เราแบ่งภาวะฮีต สโตรกออกเป็น 3 กลุ่ม  คือ 
1. การเกิดฮีต สโตรกจากการออกกำลังกายหนัก    กลุ่มนี้เกิดขึ้นกับกลุ่มที่มีร่างกายแข็งแรงมาก่อน  เช่น   เด็กโต   วัยรุ่น   นักกีฬา   ทหารเกณฑ์ที่ฝึกหนักในอากาศร้อนจัด  ผู้ที่ไม่ฟิตแต่ออกกำลังกายหนักเกินตัว  ซึ่งการเกิดขึ้นต้องอาศัยปัจจัยภายนอกที่อุณหภูมิร้อนสูงร่วมด้วย
                                2. การเกิด Classical Heat Stroke   กลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มที่มีอายุมาก   กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว   ผู้ป่วยที่ต้องมียากินประจำ   ผู้ป่วยที่ป่วยนอนติดเตียง   ผู้ป่วยเด็กเล็กซึ่งไม่สามารถดูแลตนเองได้   อัตราการเกิดโรคกลุ่มนี้จะเพิ่มหรือลดตามการเพิ่มอุณหภูมิความร้อนในแต่ละช่วงฤดูของปีผสมกับภาวะโลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน
3. การเกิดฮีต สโตรกจากยาหรือสารเคมีบางกลุ่ม  เช่น  สารเสพติดโคเคน  ยาแอมเฟตามีน   ยาคลายกล้ามเนื้อหรือยากลุ่มระงับประสาทบางตัว
                                อาการแสดงของโรคลมแดดหรือฮีต สโตรก  ได้แก่  มีอุณหภูมิกายสูงมากกว่า 41 องศาเซลเซียสสัมพันธ์กับประวัติการทำกิจกรรมในที่ร้อนชื้น  อากาศถ่ายเทยาก   หรือมีประวัติออกกำลังกายหรือฝึกหนักก่อนมีอาการ    มีอาการทางระบบประสาทตั้งแต่กระสับกระส่าย  มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงจากปกติ  หูแว่ว  เห็นภาพหลอน  ชักเกร็ง  และโคม่า
ภาวะฮีต สโตรกนี้    ถือว่าเป็นภาวะเร่งด่วนฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องรีบให้การรักษาโดยทันที     ดังนั้น    ผู้ประสบเหตุจึงเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาเพราะถ้านึกถึง   สงสัย   และให้การช่วยเหลือเบื้องต้นจนถึงส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วจะช่วยลดอัตราตายลงได้ถึงร้อยละ 10   ให้ลดอุณหภูมิกายลงโดยค่อย ๆ ลดลงมาที่ 39 องศาเซลเซียสก่อนยังไม่ต้องรีบลดลงจนเป็นปกติเร็วเกินไป  หัวใจหรือหลักการรักษาต้องค่อย ๆ ลดอุณหภูมิกายลง 0.2 องศาเซลเซียสต่อนาทีจนลงมาที่ 39 องศาเซลเซียสก็พอเพียง    เพราะไม่ต้องการให้ลดเร็วจนเกินไป   ถอดเสื้อผ้าออก  พ่น ละอองฝอยของน้ำเป็นสเปรย์ละเอียดโดยใช้ละอองน้ำอุ่น ๆ ร่วมกับเปิดพัดลมเป่าจะช่วยส่งเสริมการระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ดีที่ สุด  หรืออาจเอาถุงน้ำแข็งวางบริเวณซอกรักแร้และขาหนีบทั้งสองข้างร่วมไปด้วย    โรคลมแดดหรือภาวะฮีต  สโตรกนี้    ถ้าเป็นแล้วการรักษามีความยุ่งยากและซับซ้อนดังนั้นเราควรป้องกันไว้ก่อนจะดีที่สุด   โดยการป้องกันทำได้ดังนี้
                                1. ในสภาวะที่อากาศร้อนมากควรดื่มน้ำมาก ๆ ประมาณ 2 ลิตรต่อวัน(ราว 6 - 8 แก้ว) หลีกเลี่ยงอากาศร้อนชื้น  ถ่ายเทไม่สะดวก
                                2. การออกกำลังกายในช่วงอากาศร้อนไม่ควรโหมหนัก   ต้องรู้จักพัก   อบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย   และคลายกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย
                                3. ใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ง่ายและโปร่งสบาย   เช่น   ผ้าฝ้าย
                                4. สำหรับเด็กเล็ก   คนชรา   ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว  ในช่วงที่อากาศร้อนมีการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ   ควรต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิดช่วยหาอาหารและน้ำให้รับประทานอย่างเพียงพอ
                                5. ใช้หลักการปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง   เช่น   อาบน้ำทำตัวให้เย็นสบาย  ประแป้ง    เปิดแอร์   เปิดพัดลมคลายร้อน   งดอาหารประเภทมีแอลกอฮอล์หรือยาบางชนิดที่มีผลต่อการเพิ่มความร้อนในร่างกาย   เช่น   ยาแอมเฟตามีน   โคเคน    ยารักษาโรคบางชนิดที่กินประจำแต่อาจมีผลรบกวนในเรื่องระบายความร้อนก็อาจปรับเปลี่ยนให้เหมะสม
                                6. อาการแสดงที่บอกเราว่าจะเกิดภาวะนี้ได้แก่   เมื่อเราอยู่ในที่อากาศร้อน  ชื้น  การถ่ายเทไม่ดี   หรือร่วมกับการฝึกหรืออกกำลังกายอย่างหนัก   หากมีอาการเหล่านี้   เหงื่อออกมาก  หน้าซีด  ตะคริว  อ่อนเพลีย  มึนงง  ปวดศีรษะ  คลื่นไส้อาเจียน  เป็นลม  ตัวร้อนจัด    ควรนึกถึงโรคนี้และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

                               
ด้วยความปรารถนาดีจาก .... กลุ่มงานสุขศึกษา    โรงพยาบาลลำปาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น