วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

อาหารกับการป้องกันกระดูกพรุน

กระดูกของคนเรามีการเจริญเติบโตตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จนถึงอายุประมาณ 25 - 30 ปี จากนั้นจะเป็นการเสริมความแข็งแรงของกระดูกด้วยการสะสมมวลกระดูก จนถึงระยะมวลกระดูกสูงสุดเมื่ออายุ 35 ปี หลังจากนั้น มวลกระดูกจะลดลงเรื่อย ๆ ตามอายุ หากละเลยไม่ให้ความสำคัญกับการดูแลโครงสร้างร่างกาย อาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาโรคกระดูกพรุน ข้อมูลจาก มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย เผยว่า สถานการณ์โรคกระดูกพรุนกลายเป็นปัญหาทางสาธารณสุขอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด  ในพ.ศ.2593 มีแนวโน้มจํานวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 6.3 ล้านคน สำหรับในประเทศไทยสถานการณ์กําลังทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงถึง 3 แสนบาท ต่อคนต่อปี โรคกระดูกพรุนเกิดจากหลายสาเหตุ สังเกตได้ หลังจากอายุ 30 ปีขึ้นไป จนถึงวัยหมดประจําเดือนเป็นกลุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคกระดูกพรุน เนื่องจากมวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทําให้ผู้หญิงมีอัตราการสูญเสียเนื้อกระดูกมากกว่าผู้ชาย 2 - 3 เท่า

นอก จากนี้ ในกลุ่มคนเอเชียจะพบปัญหากระดูกพรุนมากกว่าทางยุโรป , ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนเร็วหรือผู้หญิงที่ตัดรังไข่ , คนที่มีรูปร่างผอมบางและน้ำหนัก  ตัวน้อย  ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมน้อย , สูบบุหรี่ และดื่มสุราจัด , การรับประทานยาบางชนิด เช่น ประเภทสเตียรอยด์ และพบว่าแม่ที่มีภาวะกระดูกพรุน บุตรก็มีโอกาสเกิดภาวะกระดูกพรุนสูงด้วยเช่นกัน
จีระภา คล้ายเพ็ชร  นักโภชนาการ ประจำไคโรเมด สหคลินิก เปิดเผยว่า การรับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มมวลกระดูกให้มีความแข็งแรง มีความสำคัญในการป้องกันภาวะกระดูกพรุนในอนาคตได้ และถึงแม้ว่าบางคนจะมีอายุที่เกินระยะมวลกระดูกสูงสุดไปแล้ว การรับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มมวลกระดูก จะเป็นการช่วยรักษาไม่ให้มวลกระดูกที่มีอยู่เสื่อมถอยลงไปจนเกิดภาวะกระดูก พรุนได้ ดังนั้นเราจึงควรปรับพฤติกรรมการทานอาหารต่างๆที่มีผลต่อการเจริญของกระดูก ตั้งแต่วันนี้ เพื่อลดปัญหาของการเกิดภาวะ กระดูกพรุนหรือกระดูกเปราะบางในอนาคต นอกจากนี้ จีระภา ยังเผยถึงเทคนิคการ “เลี่ยง” บริโภคอาหารเพื่อเสริมสร้างมวลกระดูกมาฝากกัน “เลี่ยง” อาหาร ลดมวลกระดูก
  1.  เลี่ยงรับประทานอาหารที่มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์จำนวนมาก เนื่องจากสารกลูคากอนที่เกิดจากการเผาผลาญจากสารอาหารโปรตีน จะทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้นนอกจากนี้ในเนื้อสัตว์ มีปริมาณฟอสฟอรัส (ฟอสเฟต) สูง ทำให้เกิดภาวะความเป็นกรดในร่างกายสูง  การขับกรดเหล่านี้ออกทางไตมีส่วนทำให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียมเพิ่มขึ้น
  2. เลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็มจัด เนื่องจากมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ เมื่อร่างกายได้รับโซเดียมจะทำให้ร่างกายขับน้ำออกทางปัสสาวะมากขึ้นและขับ แคลเซียมตามออกมาด้วย จึงทำให้การสูญเสียแคลเซียมจากร่างกายทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น
  3. เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น น้ำชา กาแฟ เนื่องจากมีส่วนประกอบของคาเฟอีน จะทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น
  4. เลี่ยงหรือลดการดื่มน้ำอัดลม เนื่องจากมีส่วนผสมของฟอสฟอรัสสูง โดยฟอสฟอรัสจะรวมตัวกับแคลเซียมในร่างกาย ทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดเสียสมดุล ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำแคลเซียมไปใช้ได้ตามปกติ จึงทำให้แคลเซียมในร่างกายลดลงได้
  5. หลีกเลี่ยงหรืองดการดื่มสุรา เนื่องจากแอลกอฮอล์จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย และทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น
  6. หลีกเลี่ยงหรืองดสูบบุหรี่ เนื่องจากนิโคตีนในบุหรี่ขัดขวางการนำแคลเซียมไปใช้ ทำให้ร่างกายนำแคลเซียมไปใช้ได้ลดลง
  7. หลีกเลี่ยงหรืองดบริโภคยาบางชนิด เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหารที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ ยาบางประเภท เช่น ยาสเตรียรอยด์ ยารักษาโรคเบาหวาน ยาป้องกันอาการชัก ฮอร์โมนธัยรอยด์ เฮพาริน มีผลทำให้การดูดซึมแคลเซียมในร่างกายลดลง และทำให้มีการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลงในที่สุด




From : http://www.bangkokbiznews.com/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น